โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ “2017-2018 International Educational Exchange Programme” ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ เมืองคิบิจูโอและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิกเพื่อยูเนสโก (Asia-Pacific Cultural Center for UNESCO : ACCU) โดยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nations University : UNU) ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและสร้างเครือข่ายระหว่างครูญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไทย และอินเดีย โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาร่วมกัน
มีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้ ๑. เพื่อเผยแพร่ระบบการศึกษาและแนวปฏิบัติทางการศึกษา ๒. เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านการ-แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมโครงการ ๓. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านวัฒนธรรมและสังคมต่อกัน ๔. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างครูกับครูผ่านการศึกษาดูงานสถานศึกษา สถาบันการศึกษา รวมถึงการประชุมด้านการศึกษา และ ๕. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศในครั้งนี้มีตัวแทนครูจากประเทศไทย ๑๕ คน ได้แก่ ครูจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๒ คน ครูจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๖ คน ครูจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ๓ คน ครูจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ๓ คน และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ๑ คน โดยมี อาจารย์เอกราช มบขุนทด จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา เข้าร่วมกับคณะครูเพื่อศึกษาดูงาน ในโรงเรียนและหน่วยงานทางการ-ศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน ร่วมสอนและทำกิจกรรมกับครู นักเรียน สังเกตการสอน ฝึกอบรม เรียนรู้วัฒนธรรมกับครอบครัวชาวญี่ปุ่น และสรุปผลการศึกษาดูงาน
สถานที่ศึกษาดูงานที่เมืองคิบิจูโอ ได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษายามาโตะ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา เมืองคิบิจูโอ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นคางะ โรงเรียนประถมศึกษาคิบิโคเกน ศูนย์การศึกษาทั่วไป จ.โอคายามะ ศาลเจ้าโยชิกาวะฮาชิมันกู และอนุสรณ์สถาน
ชิเกะโมริมิริ สถานที่ศึกษาดูงานที่กรุงโตเกียว ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมเอเชียเพื่อองค์กรยูเนสโก (ACCU) กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนประถมศึกษามินามิ อิเคะบุคุโระ สรุปผลการศึกษาดูงาน และกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมที่บ้านชาวญี่ปุ่น
การดำเนินงานในโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี ประสบการณ์ครั้งนี้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานและการศึกษาของไทยต่อไป